รู้จัก Augmented Reality ที่จะทำให้การใช้ iPhone, iPad สนุกขึ้นอีกขั้น

ar

บน iOS 11 นั้น สิ่งหนึ่งที่ Apple โปรโมตมากเลยก็คือ AR หรือ Augmented Reality ถ้าแปลเป็นภาษาไทยนั้นแปลได้ว่าเป็นความเป็นจริงเสริม (ซึ่งก็จะดูแปลก ๆ ไปหน่อย) วันนี้ทีมงาน MacThai จะนำเรื่อง AR มาเล่าให้ผู้ใช้ทั่วไปฟังว่า จริง ๆ แล้ว AR คืออะไร และมีประโยชน์อย่างไรอย่างสังเขป

AR, VR, MR สามเสือ Reality

ก่อนที่จะเริ่มพูดลงลึกไปถึง AR ขั้นแรกเราจะต้องมารู้จักกับ Reality ในรูปแบบต่าง ๆ กันก่อน ได้แก่ AR (Augmented Reality), VR (Virtual Reality) และ MR (Mixed Reality) ซึ่งทั้งสามอย่างนี้ มีทั้งความเหมือนและความต่างของกันและกัน รวมทั้งมีข้อดีและข้อเสียคนละแบบ

arkit-hero-crop

Augmented Reality คือการนำวัตถุในโลกเสมือนไปวางในโลกแห่งความจริงให้มีความสมจริง ซึ่งจะความเสมือนจริงจะถูกคำนวณขึ้นมาจากเซนเซอร์กล้อง, GPS และอื่น ๆ ข้อดีของ AR คืออุปกรณ์ที่ใช้งานไม่จำเป็นต้องออกแบบมาเฉพาะ เพียงมีหน่วยประมวลผลที่แรงพอที่จะคำนวณ AR ก็เพียงพอแล้ว ดังนั้น AR จึงสามารถใช้งานในโทรศัพท์มือถือทั่วไปได้อย่างสบาย ๆ และเหมาะกับการใช้งานได้ในชีวิตประจำวันมากกว่า เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใส่อุปกรณ์แปลก ๆ เพียงแค่หยิบมือถือขึ้นมาก็ใช้งานได้แล้ว

เมื่อใส่อุปกรณ์ VR เราจะเสมือนหลุดเข้าไปอยู่ในโลกนั้นจริง ๆ ภาพจากเว็บไซต์ PlayStation VR
เมื่อใส่อุปกรณ์ VR เราจะเสมือนหลุดเข้าไปอยู่ในโลกนั้นจริง ๆ ภาพจากเว็บไซต์ PlayStation VR

Virtual Reality คือการแทนที่สภาพแวดล้อมรอบข้างเรา ด้วยสภาพแวดล้อมจำลอง เพื่อให้ผู้ใช้โต้ตอบกับโลกเสมือนที่สร้างขึ้นมาได้ ข้อดีของ VR คือเราจะได้สัมผัสประสบการณ์อย่างสมบูรณ์แบบ (เพราะไม่ต้องถูกสภาพแวดล้อมรอบข้างเข้ามารบกวน) แต่ข้อเสียคือการปกปิดสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา จึงไม่สะดวกกับการใช้งานในสถานการณ์จริงมากนัก ปัจจุบันมือถือหลายรุ่นใช้ VR ได้แล้ว ถ้าต้นทุนไม่สูงนักเพียงแค่มีมือถือที่ใช้ VR ได้และ Google Cardboard ก็สัมผัสประสบการณ์ VR ได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าต้องการจะสัมผัสประสบการณ์ VR ที่เจ๋งจริง ๆ ต้องใช้ระบบปิดให้มากที่สุด และต้องมีอุปกรณ์เฉพาะ

Microsoft HoloLens ภาพจากเว็บไซต์ Microsoft
Microsoft HoloLens ภาพจากเว็บไซต์ Microsoft

Mixed Reality หรือในหลาย ๆ ครั้งจะเรียกว่า Hybrid Reality เป็นการผสมผสานระหว่างวัตถุในโลกเสมือนเข้ากับวัตถุในโลกแห่งความจริง และสิ่งสำคัญคือทั้งวัตถุในโลกเสมือนและโลกแห่งความจริงจะต้องตอบโต้กันได้ในรูปแบบเรียลไทม์ ฮาร์ดแวร์ดัง ๆ ในปัจจุบันที่ดัง ๆ เกี่ยวกับ MR คือ Microsoft HoloLens

ตัวอย่างการใช้งาน AR ที่น่าจะคุ้นเคยกันดี คือการจับโปเกมม่อนในเกม Pokémon GO
ตัวอย่างการใช้งาน AR ที่น่าจะคุ้นเคยกันดี คือการจับโปเกม่อนในเกม Pokémon GO

แล้วทำไม Apple เลือก AR มาใส่ iOS?

การที่ Apple ตัดสินใจเลือก AR มาใส่ iOS นั้น เนื่องจากจุดประสงค์หลักของการใช้งาน iOS คือการใช้งานในชีวิตประจำวัน ดังนั้นฟีเจอร์ที่จะเพิ่มเข้ามาต้องเป็นฟีเจอร์ที่ใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่ง AR คือคำตอบของ Apple ในกรณีนี้ เพราะไม่ต้องมีอุปกรณ์อะไรเพิ่มเติมนอกจาก iPhone, iPad ที่มีชิพแรงเพียงพอจะใช้ AR และส่วนประกอบที่จะทำให้ AR สมจริงก็มีตั้งแต่ กล้อง, เซนเซอร์วัดแสง, เซนเซอร์วัดความเร่ง, gyroscope และอื่น ๆ ซึ่งแทบทั้งหมดมีบนอุปกรณ์พกพาอย่าง iPhone, iPad อยู่แล้ว ถ้าอุปกรณ์เหล่านี้มีความละเอียดสูง ประสิทธิภาพดี ก็จะทำให้ AR มีประสบการณ์ที่สนุกและสมจริงมากยิ่งขึ้น

ข้อดีอีกอย่างของ AR ที่ Apple เลือกมาใช้ใน iOS เนื่องจากการใช้งาน AR นั้นสามารถผนวกโลกแห่งความจริงเข้ากับโลกเสมือนได้อย่างลงตัว จึงทำให้การใช้งานอุปกรณ์ดูสอดคล้องกับชีวิตประจำวันและเป็นธรรมชาติมากกว่าการใช้งาน Reality ในลักษณะอื่น ๆ

ตัวอย่างการใช้งาน AR บนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับพิเศษ 100 วันแห่งความอาลัย ภาพแคปจากวิดีโอจากเว็บไซต์ Thairath
ตัวอย่างการใช้งาน AR บนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับพิเศษ 100 วันแห่งความอาลัย ภาพแคปจากวิดีโอจากเว็บไซต์ Thairath

AR สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่เกม ไปจนถึงสื่อการเรียนการสอน, นำไปใช้แนะนำสถานที่หรือพิพิธภัณฑ์, ใช้กับแผนที่ และอื่น ๆ อีกมาก

ในขณะที่ฝั่ง macOS High Sierra นั้น Apple ก็ใส่ฟีเจอร์ VR มาให้ โดยร่วมมือกับบริษัทอย่าง Valve, HTC, Unity, Epic เพื่อนำเสนออุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับพัฒนา VR บน Mac เพื่อให้นักพัฒนาสร้างสรรค์เกมอันสวยงามบน Mac ส่วน Final Cut Pro X ก็จะรองรับ workflow วิดีโอ 360 องศาสำหรับการใช้งานบน VR เช่นกัน ซึ่งก็เป็นข้อดีและข้อเสียของ Reality แต่ละแบบ ที่จะต้องเลือกใช้ให้ถูกตามลักษณะการใช้งานโดยรวมของอุปกรณ์ใด ๆ

Unknown-4

ARKit เฟรมเวิร์คที่ทำให้ AR แพร่หลายได้ง่ายขึ้น

Apple มักจะเลือกทำไลบรารีสำเร็จรูปสำหรับนักพัฒนาในเทคโนโลยีที่ตัวเองต้องการจะผลักดัน เพื่อให้นักพัฒนาสามารถใช้ไลบรารีพัฒนาแอพได้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่ต้องลงรายละเอียดมากจนเกินไป และ ARKit ก็เป็นหนึ่งในความพยายามนั้น ซึ่งนอกจาก Apple แล้ว ฝั่ง Android โดย Google ก็เตรียมผลักดันแพลตฟอร์ม AR ด้วยเฟรมเวิร์ค ARCore เช่นกัน

ARKit มีเครื่องมือที่ Apple เตรียมไว้พร้อมสำหรับการเรียกใช้งาน AR บนแอพ นักพัฒนาไม่จำเป็นต้องมานั่งไล่พัฒนา AR ตั้งแต่แรก หรือไปหัดใช้เฟรมเวิร์คนอก เพราะว่า Apple จัดให้หมดทุกอย่าง และด้วยการที่ ARKit เป็นเฟรมเวิร์คที่ Apple ออกแบบเอง โค้ดเบื้องหลังจึงถูกพัฒนามาให้ ARKit ทำงานบนอุปกรณ์ iOS ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Augmented Reality บน iPhone 8 ภาพจาก Apple
Augmented Reality บน iPhone 8 ภาพจาก Apple

ARKit มีความสามารถแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ดังนี้

  • Tracking ติดตามรายละเอียด, วัดแรงเฉื่อยของอุปกรณ์ในโลกแห่งความจริง เพื่อให้รู้ว่าตอนนี้อุปกรณ์นั้นอยู่ในลักษณะใด วัตถุที่วางไว้ก็ควรจะเลื่อนไปอย่างสอดคล้องกับตัวอุปกรณ์ด้วยเช่นกัน
  • Scene Understanding เพื่อตรวจสอบรายละเอียดของฉาก อย่างเช่นระนาบ, สภาพแสง เพื่อให้การวางวัตถุสอดคล้องกับสภาพจริง เช่นถ้าอยู่ในห้องมืด ๆ วัตถุที่วางก็ควรจะมีความสว่างน้อยกว่าตอนอยู่กลางแจ้ง เป็นต้น
  • Rendering สำหรับการเรนเดอร์วัตถุ รองรับการใช้ตัวเรนเดอร์ทั้ง SpireKit, SceneKit, Metal ไปจนถึงตัวเรนเดอร์จากนักพัฒนานอก ซึ่งข้อมูลจากสองอย่างแรกจะถูกนำมาใส่ในตัวเรนเดอร์และทำให้รายละเอียดที่ออกมาสมจริงที่สุด
iphone_x_7
Face Tracking ใน ARKit สามารถเอาไว้ใช้สร้างคาแรคเตอร์ตามหน้าคนได้ อย่างเช่น Animoji บน iPhone X

ฟีเจอร์ต่าง ๆ ใน ARKit จะใช้ทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ ฟีเจอร์อย่าง Face Tracking ก็สามารถใช้ติดตามรูปหน้าของผู้ใช้ได้แบบเรียลไทม์บน iPhone X เพื่อใช้สร้างฟิลเตอร์หน้ากากสำหรับเซลฟี่ หรือ Animoji ที่เป็น emoji ขยับตามหน้าก็ได้

ตอนนี้เฟรมเวิร์คจากนักพัฒนาภายนอกอย่าง Unity หรือ Unreal ก็รองรับ ARKit เรียบร้อยแล้ว และอีกไม่นานนักน่าจะเห็นเกมเจ๋ง ๆ หรือแอพที่ใช้ประโยชน์จาก ARKit ออกมาบน App Store อีกเป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ ARKit รองรับเฉพาะขิพ Apple A9, A10 และ A11 เท่านั้น (ใครที่ใช้ iPhone 6 หรือเก่ากว่าแม้จะอัพเดต iOS 11 ได้ก็อดนะครับ)

ในบทความนี้ได้แนะนำเบื้องต้นสำหรับ AR ไปแล้ว แต่สำหรับนักพัฒนาที่สนใจรายละเอียดฉบับเต็มของ ARKit เฟรมเวิร์คพัฒนา AR โดย Apple สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ Apple Developer หรือชมวิดีโอแนะนำในเซสชั่น ARKit ภายในงาน WWDC ก็ได้เช่นกัน

อ่านเพิ่ม: รวม 7 ไอเดียสุดเจ๋ง ที่ถูกพัฒนาจาก ARKit ของ Apple

เรียบเรียงโดย
ทีมงาน MacThai

ข้อมูลจาก Foundry และข้อมูล ARKit จากเว็บไซต์ Apple Developer