Tips: ซื้อ iPhone, iPad, iPod touch มือสอง ต้องดูอะไรบ้าง

MacThai Tips

เนื่องจากมีแฟนเพจหลายท่านถามเรื่องเกี่ยวกับการซื้อ iPhone มือสองเข้ามากันหลายคนเลยทีเดียว ทีมงาน MacThai จึงเห็นว่าเราควรเขียน Tips เก็บไว้เลยดีกว่า เผื่อผู้อ่านที่น่ารักทุกท่านมีปัญหาอะไรจะได้เข้ามาหาข้อมูลกันง่ายๆ นะครับ ^_^

สำหรับใครที่จะซื้อ iPhone, iPad, iPod touch มือสองทั้งหลาย บทความนี้จะแนะนำวิธีตรวจเครื่องทั้งฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์ รวมถึง Apple ID ด้วย เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาทีหลัง

ต้อง Restore ก่อนทุกครั้ง

เครื่องที่จะทดสอบต้อง Restore ก่อน อย่าไปเสียดายแอพที่มีอยู่บนเครื่องทั้งหลาย เพราะเราโหลดหรือซื้อใหม่ได้ แอพเหล่านั้นอยู่บนเครื่องก็อัพเดตไม่ได้อยู่ดี เพราะมันไม่ใช่แอพของเรา และถ้าเกิดอัพเดต iOS ใหม่ๆ แอพเด้งขึ้นมาจะโหลดใหม่ก็ไม่ได้

สำหรับเครื่อง iOS 5 ขึ้นไป มีเมนู Erase All Content and Settings สามารถกดได้โดยไม่ต้อง Restore ผ่านคอม (iOS รุ่นเก่ากว่าก็มี แต่กดแล้วก็ต้องไปเสียบคอมอีกที)

เครื่องที่เป็น iOS 7 ขึ้นไป ห้ามติด Activation Lock เด็ดขาด

ข้อนี้ขอย้ำ เนื่องจากมีแฟนเพจหลายท่านถามเข้ามาบ่อยมาก ว่าเครื่องซื้อมือสองมา Restore แล้วล็อค ต้องใส่ Apple ID กับรหัสผ่านคนอื่น

กันไว้ดีกว่าแก้ครับ วิธีที่ชัวร์ที่สุดว่าเครื่องจะไม่ติด Activation Lock ก็คือให้คนขาย Restore หรือกด Erase All Content and Settings ต่อหน้าเรา หากติดล็อคแล้วเขาสามารถใส่ Password ปลดล็อคได้ให้ Set up as new iPhone โดยอย่าเพิ่งใส่อะไรทั้งนั้น ให้ข้ามไปก่อน ใส่ทีหลังได้ ให้ไปขั้นตอนเช็คฮาร์ดแวร์เครื่องได้เลย แต่หากเครื่องติดล็อคและคนขายลืม Password ล่ะก็… ไม่ต้องทำตามขั้นตอนต่อไปแล้วครับ บอกลา iPhone เครื่องนั้นได้เลย

เพื่อความชัวร์ แนะนำให้เช็ค Activation Lock ที่หน้าเว็บ Check Activation Lock โดย Serial Number สามารถหาได้จาก Settings -> General -> About หรือถ้าหาจากฮาร์ดแวร์คือบน iPod, iPad หาได้จากหลังเครื่อง ส่วน iPhone จะอยู่บนถาดใส่ซิม

เหตุผลที่ต้องขอเน้นย้ำ เนื่องจากหากเครื่องมีปัญหาจำเป็นต้อง Restore และติด Activation Lock จำเป็นต้องใส่ Apple ID และ Password ของเจ้าของเก่า เครื่องคุณจะกลายเป็นที่ทับกระดาษทันที ต้องให้ศูนย์บริการปลดล็อค และเสียเงินหลายพันบาท ถึงเวลานั้นจะไปเอากับใครล่ะครับ? (ว่าง่ายๆ คือควักกระเป๋าจ่ายเอง)

ทดสอบฮาร์ดแวร์

สินค้ามือสอง บางคนอาจยอมรับความเสื่อมสภาพของฮาร์ดแวร์บางชิ้นได้บ้างเนื่องจากเป็นเครื่องมือสอง ของก็ต้องมีเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา แต่เพื่อความสมบูรณ์ที่สุดเราจะมาเช็คกัน เพื่อไม่ต้องพบเจอปัญหาทีหลัง

  1. ปุ่มทุกปุ่มต้องสามารถใช้งานได้ ไม่ว่าจะเพิ่มเสียง, ลดเสียง, ปุ่ม Sleep/Wake, ปุ่มโฮม โดยเฉพาะปุ่มโฮมสำคัญและเน้นย้ำมากสำหรับผู้ซื้อ iPhone 4 ที่เจอปัญหาปุ่มโฮมบ่อย
  2. เช็ค dead pixel โดยเข้าไปที่หน้าเว็บ iphonedpt.awardspace.com แล้วทดสอบเปลี่ยนหน้าจอเป็นสีต่างๆ ถ้ามี Dead Pixel จะพบสีขาวหรือดำสนิทโผล่มา
  3. ทดสอบการสัมผัส ทุกจุดจะต้องสัมผัสติด และหน้าจอต้อง Pinch to Zoom เพื่อดูรูปได้ตามปกติ
  4. iPhone 5s ต้องเช็ค Touch ID ด้วยว่าทำงานปกติหรือไม่ โดยการเพิ่มลายนิ้วมือที่ Settings -> Touch ID & Passcode เพิ่มรหัสผ่าน บันทึกลายนิ้วมือ และลองปลดล็อคด้วยลายนิ้วมือ
  5. ทดสอบความสว่างหน้าจอ ไปที่ Setting Brightness & Wallpaper แล้วลองปรับความสว่างสูงสุด ต่ำสุด ทดลองกดใช้ Auto-Brightness แล้วเอามือปิดที่บริเวณกล้องหน้าของเครื่อง จอควรจะค่อยๆ ลดความสว่างลง
  6. ทดสอบถ่ายรูป ลองใช้ทุกโหมดที่มี ทั้งกล้องหน้าและกล้องหลัง ต้องไม่มีฝ้า ไม่มีรา ไม่มีสิ่งแปลกปลอมในภาพ
  7. iPhone 3GS ขึ้นไป, iPad รุ่นที่ 3 ขึ้นไป และ iPod touch รุ่นที่ 5 ขึ้นไป กล้องต้องโฟกัสได้ปกติ
  8. iPhone 4 ขึ้นไป และ iPod touch รุ่นที่ 5 ขึ้นไป แฟลชต้องยิงออก
  9. ให้สอบถามเจ้าของว่าเคยเคลมเครื่องหรือเปล่า ถ้าไม่ให้เช็คที่ Setting -> General -> About ดูเลข IMEI ต้องตรงกับกล่องของตัวเครื่อง (ถ้าเครื่องไม่มีกล่องจงระวังไว้ให้ดี) แต่ถ้าเคยเคลมเครื่องไม่ต้องเช็คขั้นตอนนี้ครับ เพราะเลข IMEI เครื่องเคลมจะไม่ตรงกับกล่องอยู่แล้ว
  10. ทดสอบดูรูปและเอียงเครื่องไปมาในแนวตั้ง-แนวนอน เครื่องภาพจะต้องเอียงไปในทิศทางที่ถูกต้อง
  11. ทดสอบถ่ายวิดีโอทุกโหมด ต้องมีเสียงเข้ามาด้วย
  12. เสียบชาร์จไฟด้วยสายชาร์จที่ได้รับมาตรฐานว่าไฟเข้าหรือไม่ และ sync ได้หรือไม่
  13. เช็คเข็มทิศ โดยการนำ iPhone ที่เช็คเรียบร้อยว่าเข็มทิศไม่มีปัญหามาวางให้หัวชี้ไปทิศเดียวกัน หากเข็มทิศชี้คนละทิศก็แสดงว่าเข็มทิศเสื่อมสภาพแล้ว (iPhone รุ่นแรก และ iPhone 3G ไม่มีเข็มทิศ)
  14. นำหูฟังที่สภาพดีมาเสียบช่องเสียบหูฟัง เสียงต้องออกมาเท่ากันทั้งสองข้าง
  15. ทดสอบใส่ซิม ต้องอ่านซิมของเราได้
  16. ทดสอบโทรศัพท์ ทั้งสองฝั่งต้องได้ยินเสียงปกติ เสียบหูฟังก็ต้องได้ยินเสียงเช่นกัน
  17. ทดสอบโทรศัพท์โดยเอาโทรศัพท์แนบหู จอต้องดับ
  18. ทดสอบการต่อ Cellular Data ต้องใช้เน็ตได้ (ยกเว้น iPad รุ่น Wi-Fi และ iPod touch)
  19. ทดสอบต่อการต่อ Wi-Fi
  20. ตรวจดูแถบวัดความชื้นว่าเป็นสีขาวหรือไม่ เพราะหากไม่เป็นสีขาวแสดงว่าน่าจะผ่านการโดนน้ำหรือความชื้นมาแล้ว แถบวัดความชื้นอยู่ที่
    • iPhone รุ่นแรกอยู่ที่ช่องเสียบหูฟัง
    • iPhone 3G, 3GS, 4, 4s อยู่ที่ช่องเสียบหูฟังและช่องเสียบสาย Dock Connector
    • iPhone 5, 5s อยู่ที่ช่องเสียบหูฟังและถาดใส่ซิม
    • iPod touch อยู่ที่ช่องเสียบหูฟัง

สำหรับบทความนี้ ก็คงเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านทุกท่าน ทีมงาน MacThai หวังว่า ทุกท่านที่อ่านบทความนี้จะได้ซื้อเครื่องมือสองได้อย่างสบายใจนะครับ

เรียบเรียงโดย ทีมงาน MacThai