สัมภาษณ์ผู้สร้าง Candy Meleon จากทีมงาน 2 คนจนโกอินเตอร์ ทำยอดโหลดเกินล้านได้อย่างไร ?

candymeleon8

สร้างความฮือฮาไปแล้วกับ “แคนดี้เมเลี่ยน (Candy Meleon)” เกมส์บน iOS ฝีมือคนไทย ที่โกอินเตอร์ไปทะลุ Top Download ของ App Store ในหลายประเทศทั่วโลก พร้อมกับยอดดาวน์โหลดที่สูงถึง 6 แสนครั้งในเวลาแค่ 5 วัน แถมยังได้เป็นแอพแนะนำจากแอปเปิลอีกด้วย วันนี้ทีมงาน MacThai จะพาไปเจาะลึกว่าด้วยทีมงานแค่ 2 คน พวกเขาทำได้อย่างไร ?

Note: เราขอแนะนำให้คุณลองโหลดเกมส์ Candy Meleon มาลองเล่นสัก 5 นาทีก่อนอ่านบทสัมภาษณ์นี้ จะได้อารมณ์อย่างยิ่ง -> Download

candymeleon6

ยอมลาออก เพื่อตามความฝัน

“ผมคิดว่าชีวิต 70% ของคนเราคือการทำงาน ผมก็อยากขอให้ได้ทำงานที่ตัวเองรัก ที่ตัวเองฝัน ถึงจุดหนึ่งเลยตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อมาทำเกมส์ครับ” ธนภณ พีธาพันธุ์ไพบูลย์ หรือ “ท็อป” หนึ่งในทีมผู้สร้างเกมส์ไทยโกอินเตอร์ให้สัมภาษณ์กับ MacThai

ท็อปเป็นหนุ่มนักฝันที่เมื่อมองเห็นลู่ทางความเป็นไปได้ ในการสร้างเกมส์ในฝันของตัวเอง เช่นเดียวกับ สิทธิศักดิ์ เจียมพจมาน หรือ “น็อต” เพื่อนสนิทของเขา ที่เป็นกราฟฟิคดีไซน์ขั้นเทพคนหนึ่งของเมืองไทย เมื่อมีฝันที่ตรงกัน ทั้งท็อปและน็อตจึงไม่รีรอที่จะเปิดบริษัทของตัวเองภายใต้ชื่อ LevelLoop

“ตอนแรกแทบจะไม่คิดเรื่องเงินเลยครับ เอาจริงๆ คือเราทำเกมส์ของเราไป แต่เราก็รับงานนอกมาทำด้วยนะ หาเลี้ยงตัวเองไปด้วย ไม่ใช่ลาออกมาแล้วคนอื่นลำบาก” ท็อปเล่าให้ทีมงานฟังว่าบริษัท LevelLoop มีพนักงานเพียง 2 คน และเช่าคอนโดแห่งหนึ่งทำงาน ประหยัดงบทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ แต่ละคนก็ทำเกมส์ไปด้วย รับงานนอกเล็กๆ น้อยๆ ไปด้วย

ถ้านี่เป็นปฏิบัติการณ์ล่าฝันแบบ Academy Fantasia ก็อาจจะพูดได้ว่านี่เป็น AF เวอร์ชันอดทนจริงๆ เพราะทั้งสองคนต้องไล่ล่าความฝันของตัวเองเป็นเวลานานถึง 8 เดือนเต็มๆ ทั้งที่ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วมันจะแป๊กหรือเปล่า

“พูดจริงๆ คือเราอยากทำอะไรที่มีความหมายกับชีวิต แม้โอกาสไม่ประสบความจะสำเร็จมีมาก บริษัทส่วนใหญ่ที่เอาเงินเป็นที่ตั้งมักจะได้ผลงานออกมาไม่ดี แต่เราอยากทำเกมส์เพื่อความสนุกนะ อยากให้คนเล่นสนุก รายได้เป็นเรื่องรองลงมาครับ” น็อตช่วยเสริมประเด็นนี้อีกแรง

candymeleon7

candymeleon4

candymeleon2

เกมส์ไทยโกอินเตอร์

ในโลกที่แบนลงทุกวันนี้ เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่ง ส่งมาถึงอีกฟากหนึ่งในเวลาไม่เกิน 0.1 วินาที ทำให้คำว่าไร้พรมแดน มันเป็นไปได้ ไม่เว้นแม้แต่การทำเกมส์

“หลังจากที่ทำแคนดี้เมเลี่ยนไปได้ซัก 70% เราก็เริ่มหาช่องทางการขาย ซึ่งเกมส์มันเป็นภาษาสากล ใครๆ ก็เล่นได้ เราเลยเริ่มติดต่อไปยังกลุ่มผู้แทนจำหน่าย (Publisher) ในต่างประเทศ ซึ่งก็เสนอไปหลายรายเหมือนกัน” น็อตเล่าให้เราฟัง

ทั้งสองคนเล่าว่า Publisher ถือเป็นหัวใจหลักที่ทำให้แคนดี้เมเลี่ยนสามารถโกอินเตอร์ได้ขนาดนี้ โดยในโลกของเกมส์ Publisher จะมีหน้าที่คอยคอมเม้นต์ส่วนที่ควรจะมีในเกมส์ เป็นคนที่มีประสบการณ์ในการขายสินค้าพวกนี้มาก่อน รู้ช่องทาง รู้วิธีโปรโมท รู้ว่าทำแอพแบบไหนจะได้หรือจะเดี้ยง

ผู้สร้างเกมส์ชื่อดังอย่าง Angry Birds หรือ Cut the Rope ต่างก็ผ่านการทำแอพเพื่อไปเสนอ Publisher มาแล้วทั้งนั้น และกลุ่ม Publisher นี่แหล่ะที่เป็นคนช่วยผลักดันให้แอพของเราเป็นที่รู้จักขึ้นมาได้ (ภายหลังผู้สร้าง Angry Birds, Cut the Rope ก็ดึงแอพกลับมาโปรโมทด้วยตัวเอง)

“การใช้บริการของ Publisher มีข้อดีหลายอย่าง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการยอมสูญเสียรายได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งก็แล้วแต่สัญญาของแต่ละราย ว่าจะหักกันกี่เปอร์เซ็นต์” ท็อปอธิบาย

candymeleon_app_store_us

candymeleon14

ทั้งสองเล่าว่าการนำเสนอแอพไปให้แต่ละ Publisher พิจารณา และคุยเรื่องสัญญากันนั้น กินเวลานานถึง 4 เดือน เพราะนอกจากจะมีรายละเอียดมากมายแล้ว พวกเขายังต้องนำคอมเม้นต์จากผู้มีประสบการณ์กลับมาแก้ไขแอพของตัวเองด้วย ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

  • Publisher ที่ทาง LevelLoop เลือกใช้คือ Bulkypix เป็นบริษัทในฝรั่งเศส
  • แอพระดับโกอินเตอร์จะต้องรองรับหลายภาษา ไม่ใช่แค่ไทยกับอังกฤษ ต้องรวมไปถึงภาษาญี่ปุ่น, จีน, ฝรั่งเศส เป็นต้น
  • แอพประเภทเกมส์ควรจะมีระบบ Game Center เพื่อดูว่าใครขึ้นไปอันดับที่เท่าไหร่
  • ควรมีระบบ Social Network เช่นการแนะนำเพื่อนใน Facebook แล้วจะได้รางวัลเพิ่ม
  • ระบบหัวใจที่เล่นไปซักพักจะหมด ต้องขอหัวใจจากเพื่อนเพื่อเล่นเกมส์ต่อ (แบบ Line Pop) กลายเป็นระบบสากลไปแล้ว
  • ทาง Bulkypix เป็นคนนำแอพไปเดินสายโปรโมทตามงาน Expo ต่างๆ เพื่อให้นักข่าว, เว็บ, บล็อกเกอร์หรือคนที่สนใจได้ลองเล่นก่อน และนำไปแนะนำต่อ
  • Bulkypix เป็นผู้ส่งแอพขึ้น App Store และรับรายได้โดยตรง แต่จะมีระบบให้ผู้พัฒนาเกมส์ได้ดูรายงานว่าตอนนี้แอพขายได้แค่ไหนแล้ว และทำเช็คเป็นเงินกลับมาให้นักพัฒนาโปรแกรม

Sketch

workspace

คนไทยเราสู้ฝรั่งได้ เชื่อผมสิ

ทั้งท็อปและน็อตค่อยๆ โชว์รูปขั้นตอนการสร้างเกมส์แคนดี้เมเลี่ยนให้ทีมงาน MacThai ได้ดู ตั้งแต่ภาพร่างบนกระดาษ การออกแบบหน้าจอ การออกแบบตัวละคร แต่ที่สะดุดใจพวกเรามากที่สุดคือภาพห้องพักขนาดเล็กที่พวกเขาเรียกมันว่า “ออฟฟิศ

“โชคดีมากเลยครับที่ท็อปเลือกเช่าคอนโดใกล้บ้านผมเป็นที่ทำงาน คอนโดนั้นก็มีแค่นั้นล่ะครับ แค่คอมสองเครื่อง ค่าเช่าเดือนละ 6,000 บาท คือประหยัดอะไรได้ก็ประหยัด” น็อตพูดให้เราฟังอย่างอารมณ์ดี

ทั้งสองคนระลึกความหลังว่า เวลากว่า 8 เดือนในการเขียนเกมส์ รวมไปถึงอีก 4 เดือนในการปรับแก้ ไม่ใช่เวลาน้อยๆ เลย ถึงแม้จะมีรับงานนอกมาทำเพื่อให้มีรายได้ แต่โฟกัสหลักของทั้งสองคนก็คือการทำเกมส์ ซึ่งเราไม่แปลกใจเลยที่เกมส์แคนดี้เมเลี่ยนจะออกมาดี เพราะทั้งสองคนใส่ใจในรายละเอียดจริงๆ

“การทำตัวละครในเกมส์ให้เนียนมันต้องใช้เทคนิคมากมายครับ น็อตถึงกับต้องเขียนแอพในการคำนวณการเคลื่อนไหวตัวละครขึ้นมาเอง ส่วนท็อปก็ต้องวุ่นกับสูตรคณิตศาสตร์เพื่อให้ทุกอย่างดูลื่นไหล ละเอียดขนาดว่าอัตราการเอียงเครื่องบน iPad จะมีผลมากกว่า iPhone เพราะเครื่องหนักกว่า คือเรากลัวคนเล่นเมื่อยน่ะเอง”

gameplayWireframe

candymeleon15

เมื่อถูกถามว่า จริงๆ แล้วคนไทยทำแอพสู้ฝรั่งเค้าได้จริงหรือเปล่า ?

“เราอย่าคิดว่าเราทำสู้ฝรั่งไม่ได้ เราสู้ได้อยู่แล้ว อย่าคิดแค่ทำแข่งในไทย คือต้องตั้งเป้าให้มันสุดๆ ไปเลย ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ครับ คนอื่นทำได้ เราก็ทำได้” ท็อปตอบกลับมาทันทีด้วยแววตามุ่งมั่น

ต่างจากแอพอย่างติ๊กเก้อหรือ Avalable ที่เน้นทำออกมาให้คนลองใช้ฟรี แล้วจึงค่อยเพิ่มช่องทางการทำรายได้เข้าไป แต่แคนดี้เมเลี่ยนได้มีวางระบบสร้างรายได้มาตั้งแต่เริ่มเปิดตัว (จากการแนะนำของ Publisher) ทำให้ตอนนี้เกมส์ที่ทำมาปีกว่า ก็เริ่มทำเงินก้อนโตให้สองหนุ่มได้ยิ้มออกได้แล้ว แต่เมื่อถามถึงความรู้สึกในตอนนี้ ทั้งสองกลับบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า

“พวกเราโคตรดีใจเลยฮะที่เห็นคนเล่นเกมส์ของเราแล้วชอบ อันนี้มันมีความสุขมากกว่าเงินนะ” น็อตพูดไปยิ้มไป

จากยอดดาวน์โหลด 5 แสนครั้งใน 4 วันแรก รวมถึงคะแนนรีวิวที่ดีเยี่ยมจากผู้เล่น เราคาดกันว่าเกมส์แคนดี้เมเลี่ยนน่าจะสามารถทำยอดดาวน์โหลดเกิน 1 ล้านครั้งจากทั่วโลกได้ไม่ยาก และน่าจะตอบแทนความพยายามของทั้งน็อตและท็อปกับการลาออกจากงาน และใช้เวลากว่า 1 ปีกับอีก 2 เดือนได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ

หลังจากเราจบการพูดคุยกว่าชั่วโมง ทีมงาน MacThai รู้สึกได้ถึงพลังบางอย่างที่ได้รับจากเด็กหนุ่มสองคนนี้ และรู้สึกอยากลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่างตามที่ตัวเองฝันกับเขาบ้างเหมือนกัน เราได้ความเชื่อบางอย่างติดตัวกลับมาด้วยในวันนี้คือ คนไทยทำอะไรไม่แพ้ใครในโลก ฝันได้ ฝันให้ไกล ..

และจงลงมือทำ

เรียบเรียงโดย
ทีมงาน MacThai.com

candymeleon_staff

CandyMeleon โดย LevelLoop (จัดจำหน่ายโดย Bulkypix)


รายชื่อทีมงานบริษัท LevelLoop ผู้สร้างแอพ Candy Meleon

สิทธิศักดิ์ เจียมพจมาน (น๊อต)
Animator, Graphic Design
Twitter : @notjiam

ธนภณ พีธาพันธุ์ไพบูลย์ (ท็อป)
Developer, Game Design
Twitter : @tanapon

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย Candy Meleon

  • กิ้งก่าที่ทำออกมาตอนแรก ออกแบบมา 20 กว่าแบบ แต่สุดท้ายทำเป็นแอนิเมชั่นในเกมส์ยาก เลยต้องเปลี่ยนวิธีใหม่
  • จุดเด่นคือกิ้งก่าตัวเอกที่ทีมงานต้องการคืออยากให้มีอารมณ์ร่วม ดูกวนๆ ทำให้คนดูเล่นแล้วรู้สึกชอบในตัวละครตัวนี้
  • ลูกอมมาจากการอยากทำให้เกมส์มีชีวิตชีวา เกมส์มีสีสันสดใส อยากให้เหมือนลูกกวาด สุดท้ายเลยออกมาเป็นลูกกวาดจริงๆ คือกินแมลงมันดูซีเรียสไปหน่อย
  • ทีมงานมี 2 คน คนหนึ่งทำกราฟฟิค อีกคนทำโปรแกรม โดยช่วงแรกน็อตจะวาดรูปคร่าวๆ ให้ท็อปไปเขียนโปรแกรมได้ จากนั้นค่อยนำภาพตัวจริงมาใช้อีกที
  • จุดเด่นที่ตัวละครดูลื่นไหลมาก เพราะใช้เทคนิคการตัดภาพแต่ละส่วน แล้วเขียนโปรแกรมให้แต่ละส่วนเคลื่อนไหว ภาพเลยออกมาเนียนเหมือนโพลีกอน
  • ฉากในเกมส์ใช้โปรแกรม Adobe Photoshop วาดและแต่งภาพ ส่วนตัวการ์ตูนใช้ Adobe Flash
  • Framework ที่ใช้เขียนโปรแกรมเกมส์ ทีมงานเลือก cocos2d
  • การได้ขึ้น Featured App ใน App Store จะเกิดจากแอปเปิลเป็นคนเลือกเอง Publisher หรือคนสร้างเกมส์ไม่ทราบมาก่อนว่าจะได้ขึ้นหรือไม่ แต่ต้องทำ Banner รอเอาไว้ด้วยเผื่อได้ขึ้นจริงๆ
  • เกมส์นี้ไม่มีที่สิ้นสุด ความยากจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันดับที่ 1 ของโลกตอนนี้คะแนน 60,000 ระดับ Level 500 เล่นนานถึง 30 นาทียังไม่ตาย (คนทำเกมส์ยังเล่นได้เต็มที่แค่ 9,000)
  • ยอดดาวน์โหลด ณวันที่ 8 พ.ค. อยู่ที่ 600,000 ครั้ง แบ่งตามประเทศคือ – อเมริกา 196,000, จีน 122,000, ไทย 67,000, ฝรั่งเศส 40,000
  • คนที่จ่ายเงินซื้อของในเกมส์ส่วนใหญ่มาจากอเมริกา ในไทยคนคนซื้อน้อยมาก จนอันดับ 4, 5, 6 ยังแซงหน้าเสียอีก ทั้งที่โหลดน้อยกว่า
  • ของที่ขายดีที่สุดคือหัวใจ Unlimited $4.99 และที่ทำเงินมากสุดคือเพชรราคา $50 !!

Candy-CandyMeleon

candymeleon11
candymeleon