รู้จัก Arm ลูกคนเก่าของ Apple ที่ต้องจำใจขายออกไป จนกลายเป็นรากฐานซีพียูในปัจจุบัน

คุณผู้อ่านอาจจะรู้จัก Arm ในชื่อสถาปัตยกรรมซีพียูที่เป็นรากฐานของชิปบนมือถือในยุคปัจจุบันจำนวนมาก ในบทความนี้ ทีมงาน MacThai จะพาคุณผู้อ่านย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นว่าจริง ๆ แล้ว Arm ซึ่งเป็นผู้ผลิตซีพียูนั้น Apple คือหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เพื่อย้อนความกันว่าจุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้ Apple ต้องขาย Arm ออกไป

จุดเริ่มต้นของ Arm

ย้อนกลับไปในปี 1990 บริษัททั้งสามคือ Apple Computer, VLSI Technology และ Acorn Computer ได้ประกาศร่วมก่อตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อออกแบบและทำตลาดชิปคอมพิวเตอร์แบบใช้เทคโนโลยี reduced instruction set computing หรือ RISC โดยบริษัทนี้จะใช้ชื่อว่า Advanced Risc Machines Ltd. หรือ ARM ตั้งสำนักงานใหญ่ที่เมือง Cambridge ประเทศอังกฤษ

บริษัทร่วมทุน ARM จะเน้นออกแบบไมโครโปรเซสเซอร์ RISC ซึ่งจะเน้นใช้งานในกลุ่มคอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็ก รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อย่างเลเซอร์ปริ้นท์เตอร์, เทปไดรฟ์ และอื่น ๆ โดยงานหลักของ ARM คือออกแบบชิป โดย Apple ในตอนนั้นไม่ได้ระบุว่าจะนำชิปจาก ARM มาใช้กับผลิตภัณฑ์กลุ่มคอมพิวเตอร์ แต่มองว่าชิปกินพลังงานต่ำของ ARM สร้างผลิตภัณฑ์ที่น่าทึ่งได้อีกหลายอย่าง

ภาพจาก Wikipedia CC BY 2.0

ภายหลัง Apple เริ่มวางจำหน่าย Newton MessagePad ที่ใช้ Newton OS ในปี 1993 ซึ่งผลิตภัณฑ์ Newton เกือบทั้งหมดใช้ชิป ARM 610 RISC ส่วน Acorn เองก็เริ่มทำคอมพิวเตอร์ของตัวเองออกจำหน่ายโดยใช้ชิป ARM เช่นกัน

หลังจากนั้น ARM เองก็เริ่มขายสิทธิ์ในตัวชิปที่ออกแบบให้บริษัทอื่น ๆ แล้ว ทำให้ชิป ARM ที่ตอนนั้นเน้นความง่าย, ไม่ซับซ้อน และกินพลังงานต่ำเริ่มเป็นที่นิยมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ระบบฝังตัว (embedded system) และอุปกรณ์พกพา ซึ่งชิป ARM ถือว่าเป็นชิปที่แหกเทรนด์ตอนนั้นที่ชิปสถาปัตยกรรมซับซ้อนและสมรรถนะสูงกำลังมาแรง (complex instruction set computing: CISC) ในเวลาต่อมาจึงทำให้ ARM กลายเป็นชิปหลักที่ใช้งานในกลุ่มผลิตภัณฑ์กลุ่มที่ต้องการชิปกินพลังงานต่ำ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ โดย ARM เริ่มมีกำไรครั้งแรกในปี 1996 มีพาร์ทเนอร์หลักคือ Texas Instruments (TI), Samsung และ Nokia

เกร็ด: RISC และ CISC เป็นตัวย่อที่เอาไว้ใช้เรียกการออกแบบซีพียู โดย RISC จะเอาไว้ใช้เรียกซีพียูที่เน้นทำสั่งง่าย ๆ ทำจบได้ภายในไม่กี่คล็อก ดังนั้น 1 คำสั่งอาจจะไม่สามารถทำงานซับซ้อนได้จบในตัวเอง โค้ดแอสเซมบลีที่ใช้เรียกคำสั่งตรงเข้าสู่ซีพียูจึงต้องเขียนยาวกว่า ส่วน CISC จะเน้นคำสั่งแบบซับซ้อน แต่ต้องใช้คล็อกจำนวนมากในการประมวลผล โค้ดแอสเซมบลีที่ใช้เรียกคำสั่งตรงเข้าสู่ซีพียูจึงเขียนสั้นกว่า อย่างไรก็ดี ซีพียูจำนวนมากปัจจุบันไม่สามารถอธิบายแยกประเภทกลุ่มนี้ได้ชัดเจน เนื่องจากนิยมดีไซน์ให้เหมาะสมกับงานแต่ละอย่าง จึงอาจจะมีคำที่ซับซ้อนอยู่เพียงกลุ่มหนึ่งในขณะที่คำสั่งส่วนที่เหลือเป็นคำสั่งแบบง่าย ๆ ก็ได้

คอมพิวเตอร์ในยุคอดีตยังคงมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสถาปัตยกรรมและระบบปฏิบัติการที่ต่างกันเป็นจำนวนมาก แต่เป็นที่รู้กันว่าอีกไม่นานก็เหลือเพียงกลุ่มพันธมิตรที่ใหญ่ที่สุดในโลกกลุ่มเดียวคือ Wintel (Windows + Intel) ที่ครองส่วนแบ่งตลาดยาว แน่นอนว่า Acorn ไม่รอดสงครามครั้งนี้ ส่วน Apple เองก็เกือบเข้าสู่สภาวะล้มละลายมาแล้ว แต่ก็รอดมาได้อย่างหวุดหวิด

ภาพจาก Android Central

ทำไม Apple ต้องขาย Arm

จากที่อธิบายไปข้างต้นนั้น เรียกได้ว่าเคยตกต่ำมากอยู่ช่วงหนึ่ง ตอนนั้นบริษัททำอะไรออกมายอดขายก็ไม่เป็นไปตามเป้า ซึ่งสร้างปัญหาทางการเงินให้ Apple จนทำให้บริษัทเป็นหนี้สูงมาก

Sir Hermann Hauser ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนในการตั้ง ARM ซึ่งอดีตเป็นหน่วยหนึ่งของ Acorn ระบุว่า ตอนนั้น Apple ใช้เงินราว 1.5 พันล้านดอลลาร์เพื่อซื้อหุ้น ARM รวมแล้ว 43% ทำให้ Apple ต้องจำใจขายหุ้น ARM ทั้งหมดด้วยราคาขาดทุนในช่วงปี 1998-2003 และได้เงินกลับมาประมาณ 800 ล้านดอลลาร์

แม้จะดูน่าเสียดายที่ต้องขาดทุนค่อนข้างมาก แต่เงินสดที่ได้จากการขายหุ้น ARM ตอนนั้นก็สามารถช่วย Apple ให้รอดพ้นจากการล้มละลายได้ แต่เงินสดที่ได้กลับมาก็ทำให้ Apple ภายใต้การนำของ Steve Jobs เริ่ม turnaround ติดเครื่องออกผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างไฉไลอีกครั้ง

ฝั่ง ARM เองก็เปลี่ยนชื่ออีกครั้งจาก Advanced Risc Machines Ltd. มาเป็นชื่อ ARM Ltd. และนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนในปี 1998 และปีถัดมาก็นำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาด Nasdaq ของสหรัฐฯ จากนั้นก็เปลี่ยนมืออีกครั้งโดย SoftBank Group เข้าซื้อหุ้น ARM เสร็จสิ้นในปี 2016 จากนั้นก็โอนหุ้น ARM 25% เข้ากองทุน SoftBank Vision Fund

ยุคมือถือเฟื่องฟู Arm ก็บูมไปด้วย

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามือถือนั้นผูกกับสถาปัตยกรรมของ Arm ค่อนข้างมาก ดังนั้นในช่วงหลังที่โทรศัพท์มือถือเริ่มเฟื่องฟูขึ้นมาเอง Arm จึงเติบโตขึ้นมาพร้อม ๆ กัน และรูปแบบธุรกิจของ Arm คือการขาย “สถาปัตยกรรม” (ซึ่งถ้าพูดให้ชัดเจนกว่านั้นก็คือขายไลเซนส์โค้ด Hardware Description Language) ให้คู่ค้านำไปพัฒนาต่อได้ตามที่ต้องการ และไปจ้างใครผลิตก็ได้ ดังนั้นผู้ผลิตชิปมือถือไม่ว่าจะเจ้าดัง ๆ อย่าง Samsung, Qualcomm หรือแม้กระทั่ง Apple ไปจนถึงรายเล็กก็เลือกใช้ Arm ทั้งสิ้น

แม้กระทั่งเทรนด์ใหม่ที่กำลังเริ่มมาอย่าง Internet of Things ที่ต้องการชิปกินพลังงานต่ำมาก ๆ Arm ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย หรือแม้กระทั่งวงการเซิร์ฟเวอร์ AWS บริการคลาวด์ยักษ์ใหญ่ของโลกภายใต้ Amazon ก็เตรียมดีไซน์ชิป Arm ใช้งานเองแล้ว และวงการคอมพิวเตอร์เองที่ Apple ดูจะไปได้ดีแล้วกับ Apple M1 หรือแม้กระทั่งคู่ค้าอาณาจักร Wintel อย่าง Microsoft เองก็มี Windows + Arm ที่แม้จะยังล้มลุกคลุกคลานมาสักระยะ แต่เมื่อ Apple จุดประกายให้แล้ว Microsoft ก็น่าจะเอาจริงกับตลาดนี้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี บริษัทที่มีความสามารถในการผลิตชิป Arm ที่มีเทคโนโลยีระดับสูงมาก ๆ เห็นจะมีอยู่แค่ไม่กี่บริษัทเท่านั้น คือ TSMC และ Samsung ซึ่งก่อนหน้านี้ทีมงาน MacThai เคยเขียนถึง TSMC ไปแล้ว อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: รู้จัก TSMC ผู้ผลิตชิปให้ Apple บริษัทนี้ใหญ่แค่ไหนในวงการผลิตชิป

ที่มา – LA Times, Cult of Mac, Arm Company

เรียบเรียงโดย
ทีมงาน MacThai