MacThai Tips: วิธีชำระเงินสำหรับบริการของ Apple ในไทย มีกี่แบบ อะไรบ้าง

ปัจจุบัน บริการของ ​Apple นั้นมีกว้างขวางขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมที่มีเฉพาะ iTunes Store และ App Store ก็เริ่มขยายมาเป็นการขายพื้นที่ iCloud, สตรีมมิ่ง Apple Music และ Apple TV+ ทำให้หลายคนอาจจะอยากลองใช้บริการเหล่านี้ดูบ้าง แต่ยังไม่รู้ว่านอกจากบัตรเครดิตหรือเดบิตแล้ว Apple มีวิธีชำระเงินอะไรบ้าง

ทีมงาน MacThai จะมาสรุปให้รับทราบกันว่า ปีนี้ 2020 แล้ว Apple มีบริการชำระเงินในไทยให้กี่แบบ อะไรบ้าง ซึ่งจะครอบคลุมทั้ง iTunes Store, App Store, Apple Music, Apple TV+ และการซื้อพื้นที่เพิ่มบน iCloud

วิธีเปลี่ยนการชำระเงินบน Apple ID ทำได้ดังนี้

  • Mac: เปิด System Preferences > iCloud > Payment & Shipping
  • iOS: เปิด Settings > เลือกบัญชีตัวเอง (เมนูแรกสุด) > Payment & Shipping
  • เว็บ: ล็อกอินที่ appleid.apple.com เลื่อนลงมาตรง Payment & Shipping กด Edit

สำหรับวิธีการชำระเงินบนแพลตฟอร์ม Apple ในประเทศไทย ปัจจุบันรองรับทั้งหมด 3 วิธี ดังนี้

บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต

วิธีนี้เป็นวิธีชำระเงินที่พื้นฐานที่สุด เพราะเราสามารถหยิบบัตรเครดิตในมือเข้ามากรอกได้เลย โดยบัตรที่ใช้งานได้จะเป็น Visa, Mastercard หรือ American Express เท่านั้น ไม่สามารถใช้ UnionPay หรือ JCB ได้

วิธีเพิ่มบัตรเครดิตหรือเดบิต ตอนเพิ่มวิธีจ่ายเงินใน Apple ID ให้กด Credit/Debit Card กรอกข้อมูล ให้กรอกเลขหน้าบัตรลงไปพร้อมกับวันหมดอายุและ CVV (เลขหลังบัตร) ถ้าอยากสะดวกมากขึ้นก็สามารถใช้กล้องถ่ายเลขบัตรและวันหมดอายุแทนการกรอกก็ได้ แต่ CVV ยังไงก็ต้องกรอกเอง

ภาพจาก Pixabay

การใช้กล้องถ่ายรูปแทนการกรอกเลขบัตร มีเงื่อนไขว่าบัตรนั้นต้องปั๊มนูนหรือพิมพ์เลขมาในรูปแบบมาตรฐานเท่านั้น ซึ่งบัตรเครดิตยุคใหม่หลายบริษัทเริ่มออกแบบบัตรให้ไม่มีเลขหน้าบัตรแล้วไปพิมพ์ลงหลังบัตรแทน หรือดีไซน์เลขบัตรในรูปแบบที่ไม่เป็นมาตรฐาน ก็จะไม่สามารถใช้กล้องส่องได้ ต้องพิมพ์เข้าไปเอง

สำหรับบัตรที่ใช้งานกับ Apple ID ได้ รองรับทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรพรีเพดที่เปิดให้ทำรายการออนไลน์ โดยวิธียืนยันการทำรายการของบัตรเครดิตคือ Apple จะทำการกันวงเงิน 1 บาท แต่ไม่เรียกเก็บ โดยจะแตกต่างกันดังนี้

  • กรณีบัตรเครดิต จะเห็นรายการเข้ามา แต่รายการนี้จะไม่ปรากฏในบิลบัตรเครดิต เพราะไม่มีการเรียกเก็บ
  • บัตรเดบิตหรือบัตรพรีเพด เงินจะถูกหักออกไปจากบัญชี 1 บาท แต่จะได้รับคืนในภายหลัง ช้าเร็วขึ้นกับผู้ออกบัตร

ทั้งนี้ อาจมีบัตรเดบิตหรือพรีเพดบางใบที่อาจจะใช้ระบบกันวงเงินเหมือนบัตรเครดิตก็ได้

TrueMoney Wallet

อดีตผู้ใช้หลาย ๆ คนอาจจะใช้วิธีการขอบัตรเสมือนของ TrueMoney Wallet และนำมาผูกเข้ากับ Apple ID เพื่อใช้จ่ายต่าง ๆ แต่หลังจากที่ TrueMoney Wallet ให้บริการผูกบัญชีโดยตรงเข้ากับ App Store โดยตรงแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องผูกเป็นบัตรอีกต่อไป

สำหรับวิธีผูก TrueMoney Wallet ตอนเพิ่มวิธีจ่ายเงินให้เลือก TrueMoney จากนั้นกรอกข้อมูลดังนี้

  • อีเมลที่ลงทะเบียนกับ TrueMoney Wallet
  • เบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนกับ TrueMoney Wallet จะต้องแยกสามหลักแรกออกมาด้วย เช่น 0823456789 จะต้องกรอกช่องแรกเป็น 082 และช่องถัดไปเป็น 3456789

จากนั้น ระบบ TrueMoney จะส่ง OTP มาให้ นำ OTP กรอกลงไปอีกครั้ง และกดยืนยัน ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

จ่ายผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์

สุดท้ายคือระบบหักผ่านเบอร์โทรศัพท์ ผู้ใช้สามารถกรอกเบอร์โทรศัพท์และ Apple ก็จะไปเรียกเก็บค่าบริการกับผู้ให้บริการแทน ซึ่งก็จะมาพร้อมกับบิลรายเดือนค่าโทรศัพท์ของคุณนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันค่ายโทรศัพท์ที่รองรับบริการนี้มีอยู่ 3 ค่ายหลัก คือ AIS, Dtac และ TrueMove H

วิธีใช้งาน คือเลือก Mobile Phone ตอนเพิ่มวิธีจ่ายเงิน กรอกเบอร์โทร (ถ้าเป็น iPhone ระบบจะตรวจเบอร์โทรในเครื่องและจะถามว่าต้องการใช้เบอร์โทรในเครื่องหรือใช้เบอร์อื่น) และยืนยัน จากนั้นจะมีรหัส ​OTP ส่งเข้าไปที่เบอร์นั้นเพื่อยืนยันเบอร์โทรศัพท์ ให้กรอก OTP ก็เป็นอันเรียบร้อย

ทิ้งท้าย

ปัจจุบัน Apple มีระบบชำระเงินให้ผู้ใช้เลือก 3 ช่องทาง แตกต่างจากสมัยอดีตที่มีเฉพาะบัตรเครดิตหรือเดบิตเพียงอย่างเดียว ซึ่งผู้ใช้สามารถใช้วิธีไหนชำระเงินก็ได้ขึ้นกับความสะดวก

แต่สิ่งที่พึงทราบไว้อย่างหนึ่งก็คือผู้ใช้จะต้องมีวงเงินหรือเติมเงินไว้อย่างเพียงพอต่อการจ่ายเงินค่าบริการ เพราะว่าหากซื้อของแล้วไม่มีเงินพอ Apple จะหักเงินไม่ได้ Apple ID คุณอาจถูกล็อก

นอกจากเรื่องเงินแล้ว อีกเรื่องคือความปลอดภัย ผู้ใช้ควรจะเก็บรหัสผ่านไว้กับตัว ไม่ให้ใครง่าย ๆ ส่วนคนที่ใช้งาน Family Sharing ที่แชร์แพคเกจบางอย่างใช้งานกับคนอื่น ก็ควรจะเลือกใช้วิธีชำระเงินที่จำกัดวงเงินไว้น้อย ๆ และแชร์กับคนที่รู้จักกันระดับหนึ่งด้วยครับ

เรียบเรียงโดย
ทีมงาน MacThai