Tip: ฮาร์ดดิสก์, แฟลชไดรฟ์ใช้กับ Mac เลือกฟอร์แมตอะไรดี ??

mac_hdd_ssd_flahdrive

ฮาร์ดดิสก์ในปัจจุบันมีฟอร์แมตมากมายให้เลือกใช้งาน ซึ่งสำหรับผู้ใช้หลายคนที่ไม่เคยซื้อฮาร์ดดิสก์มาก่อน หรือเพิ่งซื้อ Mac มาเป็นครั้งแรก เราควรจะใช้ฟอร์แมตอะไรกับฮาร์ดดิสก์ดี และฟอร์แมตแต่ละแบบนั้นแตกต่างกันอย่างไร วันนี้ทีมงาน MacThai จะมาให้คำตอบกันครับ

Mac OS Extended

ฟอร์แมตฮาร์ดดิสก์อันแรก คือฟอร์แมตสำหรับ macOS โดยเฉพาะ โดยจะแบ่งแยกออกเป็นหลายแบบ ตามความต้องการในการใช้งาน ดังนี้

  • Mac OS Extended (Journaled) เป็นฟอร์แมตมาตรฐานสำหรับการลง macOS (ถ้าจะลง macOS ให้เลือกฟอร์แมตนี้)
  • Mac OS Extended (Journaled, Encrypted) เป็นฟอร์แมตมาตรฐานสำหรับ macOS เหมือนกับอันแรก แต่จะเพิ่มการ encrypt หรือการเข้ารหัสข้อมูลในดิสก์เพื่อความปลอดภัย ดังนั้นสำหรับ macOS เครื่องใดที่เปิด FileVault ไว้จะใช้ฟอร์แมตนี้โดยอัตโนมัติ
  • Mac OS Extended (Case-sensitive) เป็นฟอร์แมตที่เหมือนกับฟอร์แมตแรก ต่างกันอย่างเดียวคือการตั้งชื่อไฟล์ คืออนุญาตให้ตั้งชื่อไฟล์ได้ทั้งแบบตัวเล็กและตัวใหญ่ในโฟลเดอร์เดียวกัน เช่น MacThai กับ macthai
  • Mac OS Extended (Case-sensitive, Encrypted) เป็นฟอร์แมตที่เหมือนกับฟอร์แมตที่สาม เพิ่มเติมคือการเข้ารหัสข้อมูล

ดังนั้น ถ้าเกิดผู้ใช้เลือกที่จะฟอร์แมตฮาร์ดดิสก์ให้เก็บข้อมูลเฉพาะ Mac หรือทำ backup ผ่าน Time Machine แนะนำให้ใช้ฟอร์แมตทั้ง 4 นี้ หรือถ้านึกอะไรไม่ออก เลือกอันแรกไปเลยครับ

NTFS

NTFS หรือ Windows NT File System เป็นระบบไฟล์มาตรฐานสำหรับการใช้งานกับคอมพิวเตอร์ Windows ฟีเจอร์ต่าง ๆ ของระบบไฟล์นี้คือใช้งานกับ Windows ได้เต็มที่ และเป็นฟอร์แมตที่แพร่หลายมาก ดังนั้นฟอร์แมตนี้จะเหมาะกับการใช้อุปกรณ์ข้ามไปมาระหว่าง Windows และ Mac

ข้อเสียของ NTFS กับการใช้งานบน Mac คืออ่านได้อย่างเดียว ถ้าจะเขียนต้องติดตั้งโปรแกรมที่รองรับ ได้แก่ Paragon NTFS หรือ Tuxera NTFS เป็นโปรแกรมเสียเงิน (โปรแกรมฟรีตอนนี้น่าจะเลิกอัพเดตกันแล้ว) และประสิทธิภาพที่ได้จะไม่สูงเท่าการใช้ฮาร์ดดิสก์ในฟอร์แมตของ Mac โดยตรง

FAT

FAT หรือ File Allocation Table เป็นไฟล์มาตรฐานสำหรับการใช้งานกับ Windows เช่นกัน มีทั้ง FAT16 (ปัจจุบันแทบไม่มีใครใช้แล้ว) และ FAT32

สำหรับระบบไฟล์แบบ FAT มีข้อดีคือใช้งานกับ Mac ได้โดยไม่ต้องลงโปรแกรมเพิ่ม แต่มีข้อจำกัดที่เนื่องจากเป็นระบบไฟล์เก่า จึงทำให้ระบบไฟล์ไม่สามารถเก็บไฟล์ขนาดใหญ่มาก ๆ ระดับเกิน 4GB ได้ FAT จึงเหมาะกับการเป็นฟอร์แมตของ Flash Drive มากกว่า (FAT16 แทบไม่รองรับแฟลชไดรฟ์รุ่นใหม่ ๆ แล้ว) รวมถึงความสามารถในการเขียนอ่านกับ Mac ก็ไม่เท่ากับฟอร์แมตของ Mac จริง ๆ

exFAT

exFAT หรือ Extended File Allocation Table เป็นฟอร์แมตที่ Microsoft พัฒนาต่อมาจาก FAT เดิมอีกที เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คือจะเป็นระบบไฟล์ที่เบากว่า NTFS เพราะไม่มีฟีเจอร์มาก แต่ก็ฉีกข้อจำกัดของ FAT32 ออกไป คือใช้กับไฟล์ขนาดใหญ่กว่า 4GB ได้ ซึ่งข้อเสียของ exFAT คืออุปกรณ์ที่รองรับอาจจะไม่มากเท่า FAT32 หรือ NTFS

สำหรับ exFAT จะเหมาะกับการใช้ในอุปกรณ์พกพาประเภทแฟลชไดรฟ์ หรือฮาร์ดดิสก์ก็ได้

:: สรุป ::

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ผู้ใช้ก็น่าจะเข้าใจถึงระบบไฟล์แต่ละแบบแล้วว่า สามารถทำงานกับ OS ใดได้ดี และควรจะเลือกอย่างไร ซึ่งทีมงานก็จะขอสรุปอีกรอบดังนี้นะครับ

  • แฟลชไดรฟ์ขนาดใหญ่ เลือก exFAT
  • แฟลชไดรฟ์ขนาดเล็ก เลือก FAT
  • ฮาร์ดดิสก์พกพาที่ใช้กับ Mac เท่านั้น เลือก Mac OS Extended
  • ฮาร์ดดิสก์พกพาที่ใช้กับ Mac และ Windows ใช้ได้ทั้ง exFAT และ NTFS
  • อุปกรณ์ที่จะต้องใช้ไปต่อกับอุปกรณ์อื่น เช่น ทีวี, เครื่องเล่นซีดี ฯลฯ เลือก NTFS หรือ FAT

เรียบเรียงโดย
ทีมงาน MacThai