Apple CEO และ CFO ชี้แจงการเลี่ยงภาษีรายได้ที่เกิดขึ้นนอกสหรัฐ

gty_tim_cook_jef_130521_wg

วันที่ 21 พ.ค. 56 ทิม คุก และปีเตอร์ ออพเพนไฮเมอร์ ซีอีโอและซีเอฟโอแอปเปิล เข้าชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภาสหรัฐฯ จากการถูกกล่าวหาในข้อหาเลี่ยงภาษี และให้คำแนะนำการปรับปรุงข้อกฎหมายเรื่องภาษี

สรุปได้ดังนี้

  • ทิม คุก ชี้แจงต่อวุฒิสภาว่าแอปเปิลได้ชำระภาษีตามกรอบของกฎหมาย (the law) และตามมารยาทของกฎหมาย (the spirit of law) โดยชำระภาษีไปกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 30% ตามอัตราภาษีองค์กรของสหรัฐฯ
  • มีการขนานนามนโยบายเลี่ยงภาษีของแอปเปิลว่าเป็น “จอกศักดิ์สิทธิ์แห่งการเลี่ยงภาษี” (The Holy Grail of Tax Avoidance) จากการไม่ชำระภาษีที่ได้จากการดำเนินงาน การจัดจำหน่ายซึ่งก่อให้เกิดรายได้ “นอกหสรัฐฯ” เป็นจำนวนเงินกว่า 44 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • แม้ว่าแอปเปิลจะกลายเป็นผู้เสียภาษีรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ แต่ก็กลายเป็นผู้เลี่ยงภาษีรายใหญ่ที่สุดนอกสหรัฐฯ เช่นกัน
  • ทิม คุก แจ้งแก่วุฒิสภาว่า กฎหมายภาษีของสหรัฐฯ ต้องการความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมา เพื่อไม่ให้เกิดการเอื้อประโยชน์แก่การเลี่ยงภาษี
  • แอปเปิล มีเงินสดมากกว่า 145 พันล้านเหรียญฯ แต่วุฒิสภาแจ้งว่าถูกรักษาไว้นอกสหรัฐฯ ถึง 102 พันล้านเหรียญฯ
  • แอปเปิล แจ้งว่าได้ดำเนินการชำระภาษีจากการดำเนินงานนอกประเทศตามกฎหมายของพื้นที่ต่างๆ
  • แอปเปิล ได้แจ้งว่าบริษัทฯ ไม่มีการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปรักษาไว้นอกสหรัฐฯ เพื่อผลิตสินค้าเข้ามาตักตวงเงินจากสหรัฐฯ แล้วไม่จ่ายภาษี (อะไรที่ขายในสหรัฐฯ ก็จ่ายภาษีสหรัฐฯ ตามกฎหมาย)

ในที่สุดแล้ว จากการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ยังไม่พบว่าแอปเปิลมีการละเมิดกฎหมายภาษีของสหรัฐฯ แต่อย่างใด

จากข่าวดังกล่าว ทำให้ความจริงข้อหนึ่งถูกเปิดเผยแก่สาธารณชนจำนวนมากว่า บริษัทใหญ่ในสหรัฐฯ ที่มีการดำเนินการนอกประเทศ ล้วนแล้วแต่ใช้ช่องว่างทางภาษีของพื้นที่เฉพาะทั่วโลก อาทิ ประเทศไอร์แลนด์ เกาะเคย์แมน เกาะบริติชเวอร์จิ้น และเกาะโซโลมอน ซึ่งมีอัตราภาษีที่ต่ำมาก (2%) หรือไม่มีเลย เป็นศูนย์กลางสำหรับจดทะเบียนบริษัทในการดำเนินการนอกประเทศทั้งหมด โดยบริษัทที่เราชาวแมคไทยน่าจะพอรู้จักและใช้กระบวนการที่โด่งดังนี้ ตัวอย่างเช่น Google, Microsoft, Facebook, Starbucks และ GE โดยกระบวนการนี้ถูกเรียกขานในชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า Double Irish Arrangement

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้แจงว่า ไม่ว่าคุณจะเลี่ยงภาษีอย่างไร สุดท้ายหากจะต้องนำเงินกลับเข้ามาที่สหรัฐฯ ก็ต้องชำระภาษีในท้ายที่สุด

ที่มา: BBC News, Venturebeat (ดาวน์โหลดเอกสารกล่าวหาฉบับเต็มได้ที่นี่), Huffintonpost