ทำไมถึงเรียกไอแพดใหม่ว่า “The new iPad” (Why it just call iPad)

 

สองงานติดแล้วที่สาวกและนักข่าวทั่วโลกโดนแอปเปิลสับขาหลอก !!

เรื่องนั้นคือเรื่องของการตั้งชื่อสินค้าตัวใหม่ เริ่มมาจากไอโฟน ที่ทุกคนก็เดากันว่ามันต้องชื่อ iPhone 5 แน่นอน !! สุดท้ายออกมาเป็น iPhone 4S (ป่อยยย) และล่าสุดกับไอแพด ที่ไม่ว่าใครก็ฟันธงเช้งเลยว่าต้อง iPad 3 หรือ iPad HD แน่นอน !!

แต่สุดท้ายโดนสับขาหลอกแบบหนักข้อที่สุดเลย คือมันดันเรียกว่า “iPad” เฉยๆ ซะงั้น เรียกว่าหน้าแหกกันถ้วนหน้า ทั้งคนที่ฟันธงว่า iPad 3 และ iPad HD ซึ่งส่วนใหญ่ชอบบอกว่าได้รับการคอนเฟิร์มมาจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ (ตรงไหนฟะ)

เพื่อให้เข้าใจในยุทธศาสตร์การตั้งชื่อสินค้าของแอปเปิลมากขึ้น เรามาดูประวัติศาสตร์ชื่อสินค้าตั้งแต่ยุคแรกของแอปเปิลจนถึงยุคปัจจุบันกันดีกว่า

หมายเหตุ:
– ในบทความนี้พูดถึงเฉพาะสินค้าประเภทฮาร์ดแวร์
– iPad 2 = [ชื่อสินค้า = iPad] [ชื่อรุ่นสินค้า = 2]

Macintosh IIcx, Macintosh IIci, Macintosh IIx
ทั้งสามรุ่นเปิดตัวพร้อมกัน (โอ้แม่เจ้า)

แอปเปิลยุคเริ่มแรก (1977 – 1997)

คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของแอปเปิลนั้นใช้ชื่อว่า “Apple Computer” หรือที่ต่อมาเราเรียกกันว่า Apple I (แอปเปิลวัน) เป็นยุคที่แอปเปิลมักจะเอาตัวเลข หรือตัดอักษรอะไรก็ไม่รู้ไปต่อท้ายชื่อ เช่น

  • Apple Computer (Apple I) , Apple II, Apple IIc, Apple IIe, Apple III, Apple III Plus
  • Macintosh,  Macintosh XL,  Macintosh SE,  Macintosh Plus
  • Power Macintosh 4400, Power Macintosh 5500, Power Macintosh 6500, Power Macintosh 7300

ซึ่งชื่อที่ต่อท้ายนี้ ก็สร้างความปวดหัวให้กับสาวกหรือแม้แต่แอปเปิลเองไม่น้อย โดยเฉพาะยุคที่สตีฟ จ็อบส์ถูกไล่ออกจากบริษัทไปแล้ว (1985 – 1976) เป็นช่วงที่แอปเปิลมีสินค้าหลายรุ่น หลายสเป็ค และตั้งชื่อรุ่นตามสเป็คที่ออกมา (คล้ายโทรศัพท์ Nokia)

ตารางจำนวนรุ่นของสินค้าแอปเปิลในยุคที่สตีฟ จ็อบส์ลาออกไป
จะเห็นความซ้ำซ้อนจำนวนมาก หลายรุ่นออกพร้อมกัน ต่างแค่ตัวเลข

ยุคที่สตีฟ จ็อบส์กลับมาเป็น CEO อีกครั้ง (1997 – 2005)

สิ่งแรกที่จ็อบส์ทำหลังจากกลับมารับตำแหน่ง CEO อีกครั้ง คือการสั่งยกเลิกสินค้าหลากหลายรุ่นของแอปเปิลลง เพราะนอกจากจะไม่ทำเงินแล้ว ยังสร้างความสับสนเป็นอันมากให้กับลูกค้า และตัวเขาเอง (จ็อบส์เคยเรียกฝ่ายการตลาดมาถามว่าเค้าควรเลือกแมครุ่นไหนให้คนที่บ้านใช้ ซึ่งก็ไม่มีใครตอบได้)

จ็อบส์สร้างยุทธศาสตร์ใหม่ให้สินค้าของแอปเปิลโฟกัสเพียง 4 ตัว คือ Consumer Desktop, Consumer Portable, Pro Desktop, Pro Portable และใช้ชื่อที่บ่งบอกว่าคือสินค้าในหมวดหมู่ใด เช่น iMac = Consumer Desktop, Power Macintosh = Pro Desktop แล้วเอาชื่อรุ่นของชิปมาเป็นชื่อรุ่น

  • iMac, iMac G3,  iMac G4,  iMac G5
  • PowerBook G3,  PowerBook G4 ,  PowerBook G5

จะเห็นว่าชื่อรุ่นสินค้านั้นถูกแทนที่ด้วยชื่อชิปที่ใช้แทน คือ G3, G4, G5 ซึ่งเข้าใจง่าย และโดยปกติไอบีเอ็มก็จะออกชิปใหม่ทุก 1-2 ปีอยู่แล้ว จึงไม่นานเกินไปนักสำหรับรอบการออกสินค้าใหม่ของแอปเปิล

ยกเว้น iPod

ไอพอดเป็นสินค้าในยุคแรกๆ ที่แอปเปิลเลือกที่จะไม่ใส่ชื่อรุ่นลงไป แต่จะใช้เพียงคำว่า “The new iPod” เท่านั้น

  • เหตุผลที่แอปเปิลไม่ใช้ “ชื่อรุ่นสินค้า” ในไอพอดนั้นไม่แน่ชัด แต่น่าจะเป็นความตั้งใจที่จะให้ผู้ใช้ซื้อสินค้ารุ่นใหม่ล่าสุดเท่านั้น
  • ไอพอดเป็นสินค้าที่มีต้นทุนในสต๊อกต่ำกว่า Macbook โดยมากเมื่อแอปเปิลเปิดตัวไอพอดรุ่นใหม่ ก็จะยังวางขายรุ่นก่อนหน้าต่อเพียงแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้นก่อนจะเลิกขายไป
  • แอปเปิลมีระบบจัดการ Supply Chain ที่ดีขึ้นมาก สินค้าคงคลังมีไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งเพียงพอที่จะล้างสต๊อกให้หมดก่อนจะเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่
  • สตีฟ จ็อบส์เคยบอกไว้ว่าเขาเกลียดพนักงานขายในโลกพีซี ที่คอยยืนแจกใบตารางสเป็คเครื่องเปรียบเทียบรุ่นเก่า-รุ่นใหม่ ผู้ใช้ควรที่จะรับรู้แค่สินค้ารุ่นล่าสุดที่แอปเปิลมีตอนนี้มันทำอะไรได้บ้าง
  • เพราะงั้นเราจึงแทบไม่เคยเห็นตารางเปรียบเทียบรุ่นก่อนหน้ากับรุ่นปัจจุบันใน Apple Store หรือ  iStudio เลย

 

แอปเปิลยุคปัจจุบัน (2005 – ปัจจุบัน)

จริงๆ ต้องเรียกว่ายุค 3rd Transition ที่แอปเปิลเปลี่ยนจากการใช้ชิปของไอบีเอ็ม (PowerPC) มาใช้ชิปอินเทล (Intel)  แทน ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าชิปของอินเทลนั้นอัพเดตรุ่นไวกว่าเดิมมาก ชื่อยาว และไม่ชัดเจนว่ารุ่นต่อไปจะใช้ชื่ออะไร

คงจะตลกมากถ้าแอปเปิลตั้งชื่อรุ่นตามชิปแบบเดิม เช่น iMac Core 2 Duo, iMac Core i5, iMac Core i7 ซึ่งชัดเจนว่าแอปเปิลยุคอินเทลนั้น เลิกใช้ “ชื่อรุ่นสินค้า” ตามหลังอย่างเป็นทางการ เราจะเห็นเพียงชื่อ Macbook Pro, iPod Nano, iPod Shuffle, iMac เท่านั้น และเวลาโปรโมทแอปเปิลก็จะใช้เพียงคำว่า “The new iMac”

 

แล้วไอโฟนกับไอแพดก็มา

แอปเปิลไม่ใส่ชื่อรุ่นในสินค้ามาหลายปี ทั้งสินค้าในกลุ่มแมคและไอพอด จนจุดเปลี่ยนมาเกิดขึ้นเมื่อปี 2008 เมื่อแอปเปิลเปิดตัว iPhone 3G ซึ่งแน่นอนว่าคำว่า “3G” ใช้เพื่อเน้นย้ำว่าไอโฟนรุ่นนี้สนับสนุน 3G แล้ว และหลังจากนั้นไอโฟนก็มีชื่อรุ่นมาโดยตลอด ตั้งแต่ iPhone 3G, iPhone 3GS, iPhone 4, iPhone  4S

ซึ่งโยงมาถึงปี 2011 ที่แอปเปิลเปิดตัว iPad 2 กลายเป็นสินค้าตัวที่สองในยุคนี้ที่ใช้ชื่อรุ่นเข้ามากำกับ แน่นอนว่าเมื่อมีตัวเลขหรือชื่อรุ่นมันทำให้คนซื้อรู้สึกได้ชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลง ที่ต้องต่างจากรุ่นเดิมเยอะแน่นอน อีกทั้งสินค้าสองตัวนี้เป็นตลาดใหม่ที่แอปเปิลต้องการจะเจาะให้ได้

แต่กับรุ่นที่ต่างจากเดิมไม่มากอย่าง iPhone 3G -> 3GS, iPhone 4 -> 4S ก็จะมีคำถามแน่นอนว่า แล้วมันต่างจากเดิมยังไงบ้าง ?

สรุป

อย่างที่เราเห็นกันว่าไอแพดที่เปิดตัวในวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แต่เป็นการอัพเดตบางอย่าง (Minor Change) และแอปเปิลก็กลับมาใช้ชื่อไอแพดรุ่นใหม่ว่า “iPad” เฉยๆ ไม่มี “ชื่อรุ่นสินค้า” กำกับ

  • เป็นการกลับมาสู่ความเป็นแอปเปิลที่เคยเป็นอีกครั้ง เช่นเดียวกับสินค้าในกลุ่มแมค, ไอพอด หรือแม้แต่แอปเปิลทีวี ซึ่งส่วนตัวแล้วเห็นด้วยอย่างยิ่ง
  • ค่อนข้างชัดเจนว่าหลังจากนี้แอปเปิลก็จะไม่ใช้ชื่อรุ่นเข้ามาใส่ใน iPad อีกต่อไป เราคงไม่ได้เห็น iPad 3, iPad HD ในเวลาอันใกล้
  • การกลับมาครั้งนี้มีราคาแพงพอสมควร เพราะมันทำให้ผู้ใช้จะสับสน(มาก) แอปเปิลเลยจำเป็นต้องใส่คำว่า “The new” เข้ามากำกับแบบตัวใหญ่เท่าบ้าน
  • ถ้าจะบอกว่า “The new iPad” เป็นการตั้งชื่อที่ผิดพลาด แต่ถ้าได้อ่านมาตั้งแต่ต้นก็จะรู้ว่า จริงๆ แล้วการตั้งชื่อที่ผิดพลาดคือชื่อ “iPad 2” และ “iPhone 3G” มากกว่าซะอีก (ถ้ามองในแง่ความสมดุลกับการตั้งชื่อสินค้าในกลุ่มอื่นๆ)
  • มีความเป็นไปได้สูงมากที่ไอโฟนรุ่นต่อไปอาจจะใช้ชื่อ “The new iPhone” หรือ “iPhone” เฉยๆ
  • ยกเว้นแต่ว่าแอปเปิลไม่กล้าเสี่ยงกับสินค้าที่ทำเงินครึ่งหนึ่งให้กับบริษัทในปัจจุบัน เราก็อาจจะได้เห็นชื่อ “iPhone 5” ก็เป็นได้ ใครจะรู้
หลังจากที่รู้ที่มาที่ไป .. ก็เตรียมไปต่อคิวกันได้แล้วครับ เอ้าลุย !!

 

นักข่าวถาม Phil Schiller ว่าทำไมถึงเรียก “new iPad” เฉยๆ
เตรียมต่อคิว