การใช้ Mac ในองค์กรด้านฟิสิกส์อนุภาค CERN เว็บไซต์แรกของโลกก็เกิดขึ้นที่นี่ เพราะ Steve Jobs

[vc_row][vc_column][vc_column_text]people_at_cern_use_mac

Mac และ macOS นั้นเป็นสองสิ่งที่เปลี่ยนโลกมาตั้งแต่ปี 1984 ในตอนที่ Steve Jobs นำ Macintosh รุ่นแรกมาสู่ตลาดก็ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ และแน่นอนว่าโลกใบนี้ที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ย่อมได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นด้วย ในวันนี้ทีมงาน MacThai จะพาทุกท่านไปชมเรื่องราวการใช้ Mac ในองค์กรวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่คือ CERN สำหรับ CERN ใครหลายคนอาจจะไม่รู้จัก CERN นั้นเป็นองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป เจ้าของเรื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลกยาวกว่า 27 กิโลเมตร ใต้กรุงเจนีวา และเป็นเจ้าของเทคโนโลยี World Wide Web ทุกคนใช้กันอยู่ทุกวันนี้

 

CERN เจ้าของเทคโนโลยี World Wide Web

รู้หรือไม่ว่าเทคโนโลยี World Wide Web ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เกิดขึ้นที่ CERN แถมโดยความร่วมมือของ Steve Jobs อีกด้วย เรื่องราวก็มีอยู่ว่า ในครั้นที่ Steve Jobs โดนไล่ออกจาก Apple ในปี 1985 นั้นเขาได้ไปตั้งบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ที่ชื่อว่า NeXT แต่ยอดขายก็ไม่ได้ดีนัก เนื่องจาก Jobs มัวแต่ไปโฟกัสกับรายละเอียดแปลก ๆ เช่น การทำคอมพิวเตอร์รูปลูกบาศก์สมมาตร ซึ่งสร้างความเอือมระอาให้กับทุกคนในบริษัท (ฮา) แต่นั่นไม่ใช่สำหรับ Tim Berners-Lee นักฟิสิกส์และนักวิทยาการคอมพิวเตอร์จาก CERN เมื่อเข้าได้เห็นเครื่อง NeXT

Steve-Jobs-Next

ปัญหาของ CERN ในช่วงนั้นคือ นักฟิสิกส์จากทั่วโลกต้องเดินทางมาที่ CERN เพื่อที่จะเอาข้อมูลไปวิเคราะห์ นั่นสร้างความยากลำบากมาก Berners-Lee จึงอยากสร้างเทคโนโลยีที่ทำให้เขาสามารถเผยแพร่ข้อมูลทางฟิสิกส์ได้โดยที่ไม่ต้องให้นักฟิสิกส์นั่งเครื่องบินมาเอาด้วยตัวเอง จนเขานึกถึงการนำคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องมาเชื่อมกัน เรียกว่า World Wide Web

first_web_server

“เราเลือกคอมพิวเตอร์ NeXT ของ Steve Jobs ซึงเขาเพิ่งจะถูกไล่ออกจาก Apple .. มันเต็มไปด้วยจิตวิญญาณ และเหมาะสำหรับสภาพแวดล้อมในการพัฒนาซอฟแวร์ และก็เยี่ยมมากเลยที่จะเอามาพัฒนาเว็บไซต์” 

CERN ได้นำ NeXT มาใช้ในปี 1989 และพวกเขาก็ได้สร้างสิ่งที่เปลี่ยนโลกไปตลอดกาล นั่นคือ World Wide Web ทำให้นักฟิสิกส์จากทั่วโลกเข้ามาแชร์ข้อมูลกันได้ผ่านคอมพิวเตอร์ที่บ้านของตนเอง

First-website-in-the-world-is-now-restored-Online

ปัจจุบัน เว็บไซต์แรกของโลกนี้ก็ยังให้บริการอยู่ และถูกรักษาไว้อย่างดีหลังเว็บไซต์จริง ๆ ของ CERN ซึ่งสามารถเข้าไปดูได้ที่ http://info.cern.ch

 

CERN ในปัจจุบัน

หลังจากนั้นไม่นาน Apple ก็ได้ซื้อเทคโนโลยีเหล่านั้นพร้อมตัว Steve Jobs กลับเข้ามาใน Apple อีกครั้ง และปัจจุบัน CERN ก็ยังคงเลือกใช้เทคโนโลยีของ Apple ในการทำงานต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยความแม่นยำสูง ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโปรแกรม, การวิเคราะห์ข้อมูล และในด้านอื่น ๆ

mac_at_cern

ในปี 2012 ที่ผ่านมา CERN ได้ประสบความสำเร็จในการค้นพบ อนุภาคฮิกส์ ซึ่งเป็นกลไกลสำคัญในการมีมวลของอนุภาคอื่น ๆ ใน Standard Model แน่นอนว่าในห้องประชุมนั้นเต็มไปด้วย MacBook ของนักฟิสิกส์ทุกคน เรียกได้ว่าทุกคนนั้นใช้ Mac เลยก็ว่าได้

เครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก

CERN มีเครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก เรียกว่า Lage Hadron Collider ที่ใช้ในการเร่งกลุ่มของอนุภาค Proton ให้มีพลังงานสูงมาก ๆ และเร็วเกือบเท่าความเร็วแสง จากนั้นบังคับให้มันมาชนกันใจกลางเครื่องตรวจจับอนุภาคที่เรียกว่า Detector ที่จะคอยตรวจว่า มีอนุภาคอะไรบ้างที่ถูกสร้างขึ้นมาจากการชนในครั้งนั้น

mac_at_cms_zoom

การชนกันแต่ละครั้งก็จะสร้างอนุภาคจำนวนมากมายที่จะถูกตรวจจับโดย Detector ข้อมูลที่ได้จะถูกส่งผ่านสาย Fiber Optic ไปยัง CERN Data Center เพื่อทำการจัดเรียงข้อมูลให้เป็น collision event และทำการกรองข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งก็มีขนาดมหาศาลคือ 62.5 Gigabytes ต่อวินาที สำหรับ Detector 1 ตัว โดยรวม ๆ แล้วข้อมูลใน 1 วันก็จะมีประมาณ 37 Terabytes และต่อปีก็จะมากถึง 15 Petabytes

mac_at_cms

สำหรับ LHC นั้นจะมีระบบที่ชื่อว่า Worldwide LHC Computing Grid ในการจัดการข้อมูลที่ได้จากการทดลอง ซึ่งถูกเขียนโดยภาษา C/C++ และ Python บนระบบปฏิบัติการ SL หรือ Scientific Linux ทำให้การใช้งานคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการในกลุ่ม UNIX นั้นจะสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี

macOS นั้นจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะมาทำงานเหล่านี้ เพราะเป็นระบบปฏิบัติการ UNIX สามารถใช้งาน Terminal (หน้าจอ Command-line สีดำ ๆ ที่ใช้การพิมพ์คำสั่งสั่งงาน) ได้อย่างมีเสถียรภาพ ทั้งการทำ  SSH หรือการ config อื่น ๆ

มีคนไปตั้งคำถามใน Quora ว่าทำไมนักฟิสิกส์ที่ CERN ชอบใช้ Mac กันจัง นักฟิสิกส์ท่านหนึ่งจาก CERN เลยมาตอบว่า

“ที่ผมใช้ Mac นั้นไม่ใช่แค่ว่ามันทำงานได้ดีกับ LHC แต่เพราะมันช่วยให้ผมสามารถสลับไปมาระหว่างเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวได้ โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนคอมพิวเตอร์หลาย ๆ เครื่อง หากผมเหนื่อยจากการวิเคราะห์ข้อมูลจาก LHC ผมก็จะปิดหน้าจอนั้นไปซะ แล้วก็เปิด NETFLIX ขึ้นมาดูหนังแทน”

1003061_45-A4-at-144-dpi

แน่นอนว่านักฟิสิกส์เหล่านี้ มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนโลก ผู้ที่บ้าพอที่จะเปลี่ยนโลกกับคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นมาเพื่อที่จะเปลี่ยนโลกก็ดูเข้าท่ากันดี นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวการใช้ Mac ในการทำงานระดับโลก (หรือระดับจักรวาลเลยก็ว่าได้) ในการไขปริศนาการกำเนิดของเอกภพ เมื่อรู้เรื่องราวเหล่านี้แล้ว ทีมงาน MacThai ก็หวังว่าทุกท่านจะมีความสุขกับการที่ได้ใช้ Mac และนำ Mac ของท่านไปสร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ ให้คุ้มค่ากับที่ได้ครอบครอง คอมพิวเตอร์แห่งอนาคตนี้นะครับ

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ของ CERN ได้ที่ – สุดยอดเทคโนโลยีเบื้องหลังเครื่องเร่งอนุภาคใหญ่ที่สุดในโลก

 

เรียบเรียงโดย – ทีมงาน MacThai[/vc_column_text][/vc_column][/vc_row]